การเข้าถึงแหล่งพลังงานทดแทนในตลาดเอเชียไม่เพียงพอ ทำให้บริษัทผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตามหลังคู่แข่งในสหรัฐและยุโรปในการแข่งขันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
บริษัทผลิตชิปหลายแห่ง โดยเฉพาะชิปล้ำสมัย ใช้พลังงานในการผลิตมหาศาล ซึ่งไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง โค (ทีเอสเอ็มซี) บริษัทผลิตชิปใหญ่ที่สุดในโลก และซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ บริษัทผลิตชิปหน่วยความจำชั้นนำของโลก ต่างพยายามลดคาร์บอนฟรุตพริ้นต์ในประเทศของตนเอง
“มาร์ก หลิว” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ทีเอสเอ็มซี บอกว่า จากการประชุมประจำปีของบริษัทพบว่า การเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนที่ล่าช้าของไต้หวัน ฉุดบริษัทให้ไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมได้
“โรงงานของเราในต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐและจีน เปลี่ยนไปใช้พลังงานสีเขียวเต็มรูปแบบแล้ว แต่โรงงานในไต้หวันยังไม่ค่อยใช้พลังงานสีเขียวมากนัก เพราะความจริงแล้ว ไต้หวันยังไม่มีพลังงานสีเขียวให้ใช้อย่างเพียงพอ” หลิว ระบุ
ด้านซัมซุง เผยว่า เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความท้าทายด้านแหล่งพลังงานทดแทนมากที่สุดในโลก เนื่องจากหลายบริษัทมีทางเลือกซื้อขายพลังงานที่ค่อนข้างจำกัด โดยบริษัทคู่แข่งที่เล็กกว่าอย่าง เอสเค ไฮนิกซ์ รายงานว่า บริษัทใช้พลังงานทดแทน 4% ในปี 2564 ขณะที่บริษัทชิป เคียวเซีย (Kioxia) ของญี่ปุ่นใช้พลังทดแทนเพียง 0.02% ในช่วง 12 เดือนจนถึงเดือน ม.ค. 2565
แหล่งพลังงานทดแทนที่มีอยู่จำกัด อาจส่งผลให้ชิปจากเอเชีย ที่มีกระบวนผลิตใช้พลังงานสีเขียวน้อยกว่าชิปจากสหรัฐและยุโรป เป็นเรื่องน่ากังวลมากขึ้นสำหรับลูกค้าที่ตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบเกี่ยวกับโลกร้อน
กรุงเทพธุรกิจ :https://www.bangkokbiznews.com/world/1076489