เร่งสังคมไทยสู่ Net Zero Emission รับมือภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง net zero emission 20 มีนาคม 2566   374 แท็ก : Net Zero Emission ภูมิอากาศ Carbon Neutrality

เร่งสังคมไทยสู่ Net Zero Emission รับมือภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุม Focus Group เรื่อง “ววน.พุ่งสู่ Net Zero และสังคม Resilience”  โดยมีทรงคุณวุฒิ นักวิจัย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในและนอกระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สถานการณ์ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรการลดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ และการปรับตัวเข้าสู่สังคม Resilience ที่เกิดขึ้น ในปัจจุบัน และระดมความคิด กำหนดทิศทางและช่องว่างของงานวิจัยที่ควรดำเนินการต่อ เพื่อให้ประเทศไทยพุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ปี ค.ศ. 2065

ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สกสว. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สกสว. โดยหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม (SAT สิ่งแวดล้อม) จัดให้มีการประชุมหารือการดำเนินงาน ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่ออัพเดทการลงทุนด้านการวิจัย ในประเด็นสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อทบทวน และ กำหนดการดำเนินงาน ภายใต้แผนด้าน ววน.ในยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก

โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โปรแกรมที่ 15 ว่าด้วย การพัฒนาและเร่งแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการบริโภคอย่างยั่งยืนและการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โปรแกรม 16 ว่าด้วย การพัฒนานโยบายและต้นแบบ เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) และ เจตนารมณ์ ที่รัฐบาลไทยได้แสดงเจตนารมย์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of the Parties: COP) โดยประกาศ เป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และตั้งเป้าหมายการ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์  (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065

โดยประเทศไทยจะมุ่งลดการ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากภาคพลังงาน ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดของประเทศ และมีการทำแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan 2022: NEP 2022) โดยกำหนดสัดส่วนของการใช้ พลังงานหมุนเวียนอย่างน้อยร้อยละ 50 ของโรงไฟฟ้าใหม่ และรถยนต์ที่จดทะเบียนใหม่ในตลาดร้อยละ 69 ต้องเป็นรถไฟฟ้า (Electric Vehicles: EV) รวมถึง Battery Electric Vehicles (BEVs) และ Plug-in Hybrid Electric Vehicles (PHEVs) ภายในปี ค.ศ. 2035

ที่มา: https://www.matichon.co.th/economy/news_3881877


ศูนย์องค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

  เลขที่ 17 ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

  

Copyright © 2022, กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน