‘โลกสวย’ ด้วยมือเรา ร่วมเปลี่ยนผ่านสู่ สังคมคาร์บอนต่ำ สิ่งแวดล้อม 31 มีนาคม 2566   62 แท็ก : คาร์บอน

ปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ วาระสำคัญของโลก ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่งที่ต้องแก้ปัญหา หรือ หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่ต้องขับเคลื่อน สิ่งแวดล้อมจะดีขึ้นหรือแย่ลงอยู่ที่น้ำมือมนุษย์ มีหลายประเด็น หลายองค์ประกอบ ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้น มีมลพิษน้อยลง ให้องค์กรธุรกิจเอกชนเห็นความสำคัญของการทำธุรกิจแบบยั่งยืน ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

วานนี้ (30 มี.ค.) กรุงเทพธุรกิจ เปิดเวทีสัมมนา Go Green 2023 : Business Goal to the Next Era มีภาครัฐ และเอกชน ร่วมกันแชร์ไอเดียทำให้โลกปลอดมลพิษ และน่าอยู่ขึ้น เนื้อหาตอนหนึ่งในงานสัมมนา ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสภาคสถาบันการเงิน ธนาคารโลก ย้ำว่า ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาใหญ่มาก ยกตัวอย่าง ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งกระทบอย่างชัดเจนในระบบทางเดินหายใจ เรื่องของสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นความรับผิดชอบของทุกคนที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ ขณะที่ วราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่า ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงต่อนานาประเทศถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 หรือปี 2593 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 

ขณะที่ภายในปี 2030 ทุกภาคส่วนต้องลดก๊าซเรือนกระจกที่มีอยู่ 40 % ซึ่งขณะนี้ ได้ทบทวนแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสาขาในอีก 2 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย สาขาพลังงานและภาคขนส่ง ที่ตั้งเป้าจะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง เช่นเดียวกับภาคเกษตรก็ตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป้าหมายไปสู่ “ความยั่งยืน” ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญของโลก และทุกประเทศต้องมีโรดแมปในเรื่องนี้อย่างชัดเจน

แน่นอนว่า ภาคธุรกิจเอกชน มีบทบาทสำคัญในการเป็นแรงขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ที่มีการเติบโต ผลกำไรสูง มีการจ้างงานสูง และมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในห่วงโซ่อุปทานจำนวนมาก ยิ่งธุรกิจสร้างผลกระทบมากเท่าใด ก็ยิ่งอยู่ในจุดที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในเชิงบวกได้มากเท่านั้น ทุกภาคส่วนจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด ทำความเข้าใจว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำไม่ใช่เป็นภาระ แต่เป็นโอกาสทางธุรกิจและทางรอดของประเทศ ถ้าไม่ร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้ โลกจะยิ่งทรุดโทรมหนัก จนยากจะกลับไปสวยงามดังเดิม


กรุงเทพธุรกิจ :https://www.bangkokbiznews.com/environment/1060684

ศูนย์องค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

  เลขที่ 17 ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

  

Copyright © 2022, กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน