‘ลาว’ ปรับกลยุทธ์ผลิตไฟฟ้า พลังงานลมเพื่อส่งออกยั่งยืน ไฟฟ้า 19 เมษายน 2566   347 แท็ก : ไฟฟ้า-ลาว

ประเทศลาว หนึ่งในประเทศส่งออกกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังงานลมแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาแหล่งทรัพยากรน้ำมากเกินไป เนื่องจากแหล่งน้ำมักประสบภาวะขาดแคลนในหน้าแล้ง พื้นที่ลึกเข้าไปในหุบเขาทางตะวันออกเฉียงใต้ของลาวที่มีประชากรบางเบา มีทุ่งกังหันลมแห่งหนึ่งที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยทุ่งกังหันลมที่มีกำหนดเริ่มดำเนินงานในปี 2568 นี้ เป็นโครงการของบริษัทมิตซูบิชิ คอร์ป ของญี่ปุ่น, บีซีพีจี บริษัทย่อยด้านพลังงานหมุนเวียนของบริษัทบางจาก ซึ่งเป็นบริษัทกลั่นน้ำมันของไทย และบริษัทอื่น ๆ เมื่อโครงการเสร็จสิ้น ทุ่งกังหันลมแห่งนี้ จะมีพื้นที่ทั้งหมด 70,000 เฮกเตอร์ หรือประมาณ 437,500 ไร่ พร้อมกังหันลมทั้งสิ้น 133 ต้น และด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้า 600 เมกะวัตต์ จะทำให้ทุ่งกังหันลมแห่งนี้ เป็นหนึ่งในทุ่งกังหันลมบนบกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนผลผลิตไฟฟ้า จะจำหน่ายให้กับบริษัทพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลเวียดนามเป็นเวลา 25 ปี อย่างไรก็ตาม ทุ่งกังหันลมแห่งนี้ไม่ใช่โครงการพลังงานลมเพียงแห่งเดียวในลาว ประเทศที่ขนานนามตนเองว่าเป็น “แบตเตอรีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” และมีนโยบายพลังงานที่มุ่งเน้นการส่งออก แต่ยังมีข้อเสนอโครงการทุ่งกังหันลมของบริษัทเวียดนามกำลังผลิต 250 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาตั้งแต่เดือน ธ.ค. และมีอย่างน้อยอีก 10 โครงการที่อยู่ในขั้นตอนการวางแผนโครงการทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ลาวเริ่มส่งออกพลังงานไฟฟ้าให้กับสิงคโปร์เมื่อปี 2565 และเริ่มสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการส่งกระแสไฟฟ้าเมื่อเดือน ม.ค. เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับกัมพูชา พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตในลาวประมาณ 80% จำหน่ายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศไทยและเวียดนาม และรายได้จากการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าคิดเป็น 30% ของมูลค่าการส่งออก และเนื่องจากที่ดินประมาณ 70% ในลาว เป็นภูเขาและที่ราบสูง ทำให้หลายพื้นที่เหมาะแก่การสร้างเขื่อนมาก ดังนั้น ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำของลาว จึงคิดเป็น 70% ของการผลิตไฟฟ้าในประเทศทั้งหมด

กรุงเทพธุรกิจ :https://www.bangkokbiznews.com/world/1063736


ศูนย์องค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

  เลขที่ 17 ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

  

Copyright © 2022, กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน