นิคมอุตสาหกรรมฯ ลุยพลังงานสะอาด เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พลังงาน 09 มิถุนายน 2566   531 แท็ก : พลังงานสะอาด

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยระหว่าง ลงพื้นที่เยี่ยมชมท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ที่เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญตามแผนพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา เฟสที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบังให้สามารถขยายความจุท่าเรือตู้สินค้า จาก 11 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18 ล้านตู้ต่อปี (รวมทั้ง 3 ระยะ) โดยออกแบบเป็นรูปตัว U มีความยาวหน้าท่า 2 กิโลเมตร ความลึก 18 เมตร สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้ารุ่นใหม่ที่มีขนาดใหญ่และมีระยะกินน้ำลึกเพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 “ท่าเรือแหลมฉบังขณะนี้กำลังพัฒนาอยู่ในเฟส 3 และมีนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ซึ่งนับว่ามีความสำคัญมากในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะประเด็นการเชื่อมโยงด้านการขนส่งสินค้าจากภูมิภาคต่างๆของประเทศ ซึ่งหากในอนาคตมีการสร้างรางรถไฟเข้าไปถึงบริเวณหลังท่าเทียบเรือด้วยก็จะเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งตู้สินค้าทางรางได้อีกด้วย”

นายวีริศกล่าวว่า ตนยังได้เยี่ยมชมโรงไฟฟ้า บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) สาขานิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ซึ่งโรงไฟฟ้าของบริษัท บี.กริมฯ ได้ทดลองใช้พลังงานสะอาดในระบบไมโครกริด (Microgrid : ระบบไฟฟ้าที่สามารถจ่ายไฟได้โดยไม่ต้องเชื่อมโยงกับระบบโครงข่ายไฟฟ้า เช่น ระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบต่างๆ รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า และระบบการจัดการพลังงานไฟฟ้า) โดยทำระบบเชื่อมต่อระหว่างไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ และไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติให้เชื่อมต่อกันอย่างมีเสถียรภาพ

“ผมได้เชิญชวนบริษัท บี.กริมฯให้ลงศึกษาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ (สงขลา) และนิคมอุตสาหกรรมยางพารา จังหวัดสงขลา เพื่อช่วยให้คำแนะนำด้านการบริหารจัดการพลังงานในนิคมอุตสาหกรรมอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งบริษัท บี.กริมฯ ให้ความสนใจและยินดีที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในพื้นที่ร่วมกัน”


ไทยรัฐ :https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2700472

ศูนย์องค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

  เลขที่ 17 ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

  

Copyright © 2022, กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน