กกพ.แจงค่าไฟก.ย.-ธ.ค. ลดลงได้แค่20สต./หน่วย เหตุต้องคืนหนี้ให้กฟผ. ไฟฟ้า 23 มิถุนายน 2566   1,851 แท็ก : ค่าไฟฟ้า

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยถึงแนวโน้มค่าไฟงวดปลายปี 2566(กันยายน-ธันวาคม) ว่า เบื้องต้นค่าไฟมีโอกาสจะลดลงอย่างต่ำ 20 สตางค์ต่อหน่วย จากประมาณค่าไฟลดลงรวม 48 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากต้องนำ 28 สตางค์ต่อหน่วยคืนหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่รับภาระค่าไฟแทนประชาชนกว่า 1 แสนล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมการกกพ.จะมีการพิจารณาราคาและเสนอต่อบอร์ดกกพ.เคาะราคาเดือนกรกฎาคม เพื่อประกาศราคาในเดือนกรกฎาคมเช่นกัน และเปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อไป สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าไฟงวดปลายปีลดลงเนื่องจากราคาเนื้อก๊าซธรรมชาติ เฉลี่ยจากทุกแหล่งทั้งอ่าวไทย เมียนมา และนำเข้าเฉลี่ยราคาลดลงเหลือ 323 บาทต่อล้านบีทียู จากงวดที่ผ่านมา (พฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ราคา378 บาทต่อล้านบีทียู) ทั้งนี้ ปัจจุบันค่าไฟ (งวดพฤษภาคม-สิงหาคม 2566) อยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย

“ประเมินจากราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ลดลงเหลือระดับ 12-13 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ขณะที่ปริมาณก๊าซอ่าวไทยจะเพิ่มขึ้นระดับ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งราคาอ่าวไทยถูกต่ำกว่า 10 เหรียญต่อล้านบีทียู ขณะที่ค่าเงินบาทระดับ 34 บาทต่อเหรียญ ราคาน้ำมันดิบระดับ 76เหรียญต่อบาร์เรล และถ่านหิน 138 เหรียญต่อตัน”

อนึ่ง ก่อนหน้านี้นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่า ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft ในงวดใหม่ (เดือนก.ย.-ธ.ค. 2566) มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงอย่างน้อย 40-50สตางค์ต่อหน่วย จากสัญญาณของราคาเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)ที่มีทิศทางอ่อนตัวลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะ LNG ที่ล่าสุดอยู่ราว 10.5 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และหากราคา LNG ลดลงต่อเนื่องไประดับ 9 เหรียญต่อล้านบีทียู และบมจ.ปตท.สามารถซื้อได้ในราคาดังกล่าว ก็จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ 70 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ปัจจุบันอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วยปรับลดลงมาอยู่ในระดับ 4-4.20 บาทต่อหน่วยได้

ศูนย์องค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

  เลขที่ 17 ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

  

Copyright © 2022, กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน