ต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนลำน้ำโขง โครงการไซยะบุรีชูหลัก "ไฟฟ้าสะอาด" พลังงานทดแทน 20 มีนาคม 2566   185 แท็ก : โรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนไซยะบุรี

จากการที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความมั่งคั่งทางด้านทรัพยากรพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานจากน้ำ แสงอาทิตย์ และลม ทำให้รัฐบาล สปป. ลาว จึงประกาศวิสัยทัศน์หลักในการพัฒนาประเทศให้ไปสู่การเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” มีความตั้งใจที่จะเป็นแหล่งพลังงานสำรองให้แก่ทั้งประเทศตัวเอง รวมทั้งเพื่อนสมาชิกอาเซียน และประเทศต่างๆในเอเชีย โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำถือเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของวิสัยทัศน์นี้ รัฐบาล สปป.ลาว จึงได้ให้สัมปทานโครงการเขื่อนพลังน้ำต่างๆ ไปประมาณ 335 แห่ง ในขนาดที่แตกต่างกัน

ขณะที่ประเทศไทยได้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในทุกปี กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงมีภารกิจสำคัญในการจัดหาแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนไม่สูงเกินไปเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าให้พอเพียงกับในประเทศและเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน จะได้ไม่มีปัญหาไฟฟ้าดับหรือไฟฟ้าขาดแคลน มีอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

ดังนั้น นอกจากทั้งกระทรวงพลังงานและ กฟผ.จะมีการจัดหาไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศในหลากรูปแบบแล้ว ยังได้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านและใกล้เคียง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ซื้อกับ สปป.ลาว ที่มีแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำอยู่มหาศาล ทั้งยังมีราคาที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบอื่น และยังตอบโจทย์ในเรื่องการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดอีกด้วย อย่างเช่นบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาล สปป.ลาว ในการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ที่แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว เกลี่ยค่าไฟให้ถูกลง

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ตั้งอยู่ที่แขวงไซยะบุรี สปป. ลาว ติดกับจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ และ เลย ของประเทศไทย ตัวรูปแบบโครงการใช้เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบไหลผ่าน (Run-of-River) เป็นการสร้างเขื่อนทดน้ำบนแม่น้ำโขงเพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้น โดยไม่มีการผันน้ำออกจากแม่น้ำโขง และไม่มีการกักเก็บน้ำเหมือนเขื่อนที่มีอ่างเก็บน้ำทั่วๆไป การสร้างเขื่อนทดน้ำจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้นเฉพาะช่วงแขวงไซยะบุรีไปถึงตอนใต้ของเมืองหลวงพระบางที่อยู่ใกล้เคียง โดยมีระดับน้ำใกล้เคียงกับระดับน้ำสูงสุดในฤดูน้ำหลากตามธรรมชาติ ส่วนตอนล่างของแม่น้ำโขงจะมีระดับน้ำปกติตามธรรมชาติ

มีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 1,285 เมกะวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละ 7,400 ล้านหน่วย ส่งป้อนขายให้ไทยโดยผ่าน กฟผ. ถึง 95% ในอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ณ ชายแดน 2.16 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ตลอดอายุสัญญา 31 ปี ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลก และอีก 5% ป้อนให้กับ สปป.ลาวในนาม “รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว”

จึงนับว่าเป็นโครงการที่มีส่วนสำคัญในการเกลี่ยค่าไฟฟ้าในประเทศไทยไม่ให้สูงโต่งอย่างที่ควรจะเป็น เพราะโรงไฟฟ้าทางเลือกในประเทศหรือโรงไฟฟ้าจากถ่านหิน และโรงไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว LNG มีอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ในช่วงประมาณ 2.90 -4.30 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง

โครงการนี้เป็นของบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XCPL) ในเครือบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CKPower) ของไทย ที่มี “ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์” เป็นกรรมการผู้จัดการ โดยได้สัญญาสัมปทานเป็นระยะเวลา 31 ปีนับจากวันเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ มูลค่าโครงการประมาณ 113,000 ล้านบาท

ชูแนวทางสร้างเขื่อนตาม MRC

“อานุภาพ วงศ์ละคร” รองกรรมการผู้จัดการ งานกิจกรรมพิเศษ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ย้ำว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มีการดำเนินออกแบบโรงไฟฟ้าเพื่อให้เป็นไปตามหลัก “แนวทางปฏิบัติในการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง” หรือ “Preliminary Design Guildline for Proposed Mainstream Dams in the Lower Mekong Basin” (PDG 2009) ของ “คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง” (Mekong River Commission : MRC) อันเป็นองค์การร่วมมือระหว่างรัฐบาล 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนาม ที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่าน ในการดูแลการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงตอนล่างให้เกิดความเป็นธรรม รวมทั้งการจัดการน้ำที่เกิดประโยชน์สูงสุดและเกิดผลเสียที่เป็นอันตรายน้อยที่สุด

โดยการดำเนินงานทุกขั้นตอนช่วงก่อสร้างเขื่อนและการปฏิบัติการเป็นไปตามข้อแนะนำและกระบวนการที่ MRC และรัฐบาล สปป.ลาว พร้อมย้ำในจุดที่ว่า “น้ำไหลมาเท่าใดก็ผ่านไปเท่านั้นและเกิดเป็นไฟฟ้าที่สะอาด”

ทั้งนี้ จากกระบวนการผลิตไฟฟ้าตามปริมาณน้ำที่ไหลในลำน้ำนี้เอง จึงเป็นหลักการที่รับประกันได้ว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ไม่ได้กักน้ำไว้เลย ในฤดูแล้งอาจจะเห็นว่าระดับน้ำหน้าโรงไฟฟ้าสูงกว่าท้ายน้ำนั้นเป็นการยกระดับน้ำให้สูงขึ้นเพียงเพื่อให้มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น และกระทำเพียงครั้งเดียวเมื่อปลายเดือน ต.ค. 2561 หลังจากนั้นเป็นการรักษาระดับน้ำหน้าโรงไฟฟ้าโดยปล่อยน้ำออกเท่ากับน้ำไหลเข้า

โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี จึงยืนยันได้ว่าไม่ได้เป็นสาเหตุของน้ำโขงแห้งในบางช่วงที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ขณะเดียวกัน “สี” ของแม่น้ำโขงก็แปรผันไปตามฤดูกาลตามปกติ ตั้งแต่ก่อนจะมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี นั่นคือ แม่น้ำโขงจะมีสีขุ่นในช่วงฤดูฝนที่มีน้ำมาก และเปลี่ยนสีใสขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งที่มีปริมาณน้ำน้อย ซึ่งเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ได้มีการดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในด้านผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ อากาศ ดิน ป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ และระบบนิเวศวิทยาโดยรวม ซึ่งได้มีการนำเสนอรายงานการศึกษาพร้อมแผนงานแก้ไขปัญหาผลกระทบให้รัฐบาล สปป.ลาว ได้รับทราบตลอดเวลา โดยทั้งหมดจะยึดตามหลักแนวทางปฏิบัติ PDG 2009 ของ MRC ซึ่งมีแผนงานสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สรุปได้ ดังนี้

1.) การจัดหาระบบทางปลาผ่าน โดยได้จัดทางปลาว่ายน้ำขึ้นลงมีขนาดความกว้าง 10 เมตรอยู่ติดกับเขื่อนด้านซ้าย เพื่อให้ปลาสามารถเดินทางได้ตามฤดูกาลต่างๆ รวมทั้งจะจัดให้มีการขยายสถานีพันธุ์ปลา เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีผลผลิตที่เหมาะสมต่อการประกอบอาชีพประมงของประมงที่อาศัยตามริมฝั่งแม่น้ำโขง

อย่างไรก็ดี จากการจัดทำระบบทางปลาผ่านดังกล่าวนี้เอง ทำให้จะมีปลาชุกชุมบริเวณใกล้ระบบทางปลาผ่านทั้งเหนือเขื่อนและใต้เขื่อน รัฐบาล สปป.ลาว จึงได้ออกกฎหมายห้ามจับปลาในบริเวณใกล้เขื่อน โดยให้ถอยร่นเขตที่สามารถจับปลาห่างออกไปจากเขื่อน 1-2 กิโลเมตร เพื่อให้ปลาสามารถว่ายน้ำผ่านเขื่อนได้อย่างปลอดภัย

2.) ทำช่องทางเดินเรือให้สามารถแล่นเรือไปมาได้ตลอดทั้งปี จากเดิมที่ไม่สามารถสัญจรทางน้ำโขงทั้งการเดินทางท่องเที่ยวหรือขนส่งสินค้าทางเรือได้ตลอดทั้งปี เพราะช่วงหน้าแล้งจะมีเกาะแก่งโผล่ขึ้นหลายแห่ง จึงเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือขนาดใหญ่ ดังนั้นทางโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี จึงได้มีการออกแบบให้มีประตูน้ำสำหรับเรือสัญจรติดกับเขื่อนด้านขวา มีความกว้าง 12 เมตร ยาว 120 เมตร เพื่อรองรับการสัญจรทางน้ำสำหรับเรือขนส่งขนาดใหญ่ 500 ตัน ทำให้การเดินเรือสะดวกมากกว่าเดิม

3.) การระบายตะกอน สำหรับตะกอนแขวนลอยที่มากับน้ำนั้น โดยธรรมชาติจะมีมากในช่วงน้ำหลากที่มีปริมาณน้ำมากและน้ำไหลเร็ว ส่วนในฤดูแล้ง ตะกอนจะน้อยลง และเนื่องจากโครงการได้ปล่อยน้ำผ่านในปริมาณที่ไหลอยู่ตามธรรมชาติทุกวัน ความเร็วของน้ำจะใกล้เคียงกับธรรมชาติเดิม อย่างไรก็ตามโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ได้ออกแบบให้มีประตูระบายทรายเพิ่มเติมไว้ เพื่อไม่ให้ขัดขวางการไหลของตะกอนและอาหารของสิ่งมีชีวิตในลำน้ำอีกส่วนหนึ่งด้วย

4.) ป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี จะรักษาการระบายน้ำให้เท่ากับปริมาณน้ำที่ไหลในลุ่มแม่น้ำโขงในแต่ละวันโดยการควบคุมน้ำจะเป็นแบบรายวัน การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำเหนือเขื่อนไม่เกิน 0.5 เมตร และท้ายเขื่อนไม่เกิน 1.5 เมตร โดยเมื่อโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี แล้วเสร็จ ระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนจะค่อนข้างคงที่ตลอดเวลา ส่วนทางด้านท้ายน้ำจะเป็นไปตามธรรมชาติ คือระดับน้ำจะสูงในฤดูน้ำมาก และต่ำในฤดูน้ำน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณนํ้าในแม่น้ำโขงตามปกติ

ทั้งนี้ จากการที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ได้ดำเนินการตามหลักแนวทางปฏิบัติในการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง PDG 2009 ของ MRC ซึ่งในหลายส่วนนั้นทางโครงการฯได้ทำมากกว่าข้อกำหนดหรือเหนือกว่าสเปกด้วยซ้ำ เช่น ระบบทางปลาผ่าน ช่องทางเดินเรือให้สามารถแล่นเรือไปมาได้ตลอดทั้งปี และการระบายตะกอน เป็นต้น ทำให้ทาง MRC ได้ปรับปรุงหลักแนวทางปฏิบัติในการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง PDG 2009 ให้ใช้สเปกใหม่ดังเช่นที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ทำจึงถือได้ว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ได้กลายเป็นต้นแบบใหม่ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขง

โดยเฉพาะการสร้างที่ สปป. ลาว ทางรัฐบาล สปป. ลาวได้ให้ผู้ที่จะทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไม่ว่าจะมาจากบริษัทใด ประเทศไหน ให้มาศึกษาดูงานต้นแบบที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี

MRC ปลื้มให้สอบผ่าน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้เผยแพร่เอกสารเรื่องรายงานการติดตามเบื้องต้นผลกระทบจากเขื่อนแม่น้ำโขง 2 แห่ง คือ เขื่อนไซยะบุรี และ เขื่อนดอนสะโฮง (Joint Environmental Monitoring Programme at Two Mekong Mainstream Dams: The Don Sahong and Xayaburi Hydropower Projects) โดยระบุว่าเป็นข้อมูลจากการติดตามตรวจสอบในระยะเวลาประมาณ 1 ปี ซึ่งยังเร็วเกินไปในกระบวนการหาข้อสรุปโดยคณะศึกษาจากหลายประเทศ ภายใต้โครงการร่วมติดตามตรวจสอบสิ่งแวดล้อม (MRC-Joint Environmental Monitoring (JEM)) ซึ่งศึกษาประเด็นสำคัญของสุขภาพแม่น้ำโขง คือการไหลของน้ำ ตะกอน คุณภาพน้ำ ระบบนิเวศพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำ และการประมง

ทีมตรวจสอบพบว่ารูปแบบการไหลของแม่น้ำโขงโดยรวมไม่เปลี่ยนแปลง สุขภาพทางนิเวศวิทยาของแม่น้ำโขง เหนือเขื่อนทั้ง 2 พบว่าอยู่ในเกณฑ์ “ดี” และ “ปานกลาง” ในพื้นที่กักเก็บน้ำของเขื่อน และท้ายน้ำจากเขื่อน ส่วนคุณภาพน้ำยังคง “อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์” นอกจากนี้ ในพื้นที่กักเก็บน้ำของเขื่อนก็ไม่พบหลักฐานการแบ่งชั้นของน้ำ ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพน้ำและการประมง เมื่อน้ำไหลผ่านเขื่อน “ก็พบหลักฐานเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำที่ท้ายน้ำ”

ขณะที่ผลการติดตามตรวจพบความผันผวนของระดับน้ำโขงรายวันเป็นบางครั้ง ที่ท้ายน้ำของเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งอาจกระทบต่อระบบนิเวศ และพบรูปแบบที่เริ่มในปี 2561 คือความเข้มข้นและปริมาณตะกอนในแม่น้ำลดลง ซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงกับการพัดพาสารอาหารตามธรรมชาติ และช่วยพยุงตลิ่งสองฝั่งแม่น้ำโขงไว้ แต่การลดลงของตะกอนดังกล่าว อาจเกิดจากการดักตะกอนในเขื่อนทั้งบนลำน้ำสาขาและบนแม่น้ำโขง

คณะศึกษาพบความเปลี่ยนแปลงของความหลากหลายของพันธุ์ปลาบริเวณเหนือเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งคงเดิมระหว่างปี 2560-2562 แล้วกลับลดลงในปี 2563 ในขณะที่บริเวณท้ายน้ำของอ่างเก็บน้ำยังมีความหลากหลายของพันธุ์ปลาในปริมาณสูง ปริมาณปลาที่จับได้มีมูลค่าสูงในปี 2560 แล้วลดลงในปี 2561-2562 และสูงขึ้นอีกครั้งในปี 2563 เจ้าหน้าที่บริหารสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขง กล่าวว่า เราต้องเข้าใจความท้าทายที่กำลังประสบอยู่ และระบุวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการวัดผล รายงานนี้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อนไฟฟ้า แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะระบุว่าผลกระทบทั้งหมดนี้เป็นเพราะเขื่อน เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาต่างๆ

พร้อมรุกลงทุนต่อเนื่อง

สำหรับบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XCPL) ผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี อยู่ในเครือบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CKPower) ซึ่งหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุด และมีคาร์บอนฟุตพริ้นต์องค์กรที่ต่ำที่สุดรายหนึ่งของภูมิภาค มีทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม หรือโรงไฟฟ้าระบบโคเจเนอเรชัน และโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์

โดยได้มีการมีลงทุนใน สปป.ลาว ถึง 2 โครงการใหญ่ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำงึม 2 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี อีกทั้งยังจะมีแผนเพิ่มการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวเพิ่มอีก เพราะเห็นว่า สปป.ลาวมีศักยภาพในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และรัฐบาล สปป.ลาวมุ่งส่งเสริมตามวิสัยทัศน์ ในการพัฒนาประเทศให้ไปสู่การเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย”

ทั้งนี้ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งโดยกลุ่มบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งในช่วงหลังได้แตกหน่อการลงทุนไปอีกหลากหลายธุรกิจ นอกเหนือจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เช่น ทางด่วน รถไฟฟ้า สาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมทั้งการผลิตไฟฟ้า ในนาม บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)
โดยปัจจุบันจากการขยายตัวรุดหน้าในโครงการผลิตไฟฟ้าของ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ทำให้มีมูลค่าบริษัทมากกว่า ช.การช่าง บริษัทแม่ ไปแล้ว!!! 

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2657858


ศูนย์องค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

  เลขที่ 17 ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

  

Copyright © 2022, กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน